ท่่ารำจาก ทรูปลูกปัญญา

วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การสอนเขียน

การวางแผนการสอน
การวางแผนการสอน เป็นภารกิจสำคัญของครูผู้สอน ทำให้ผู้สอนทราบล่วงหน้าว่าจะสอนอะไร เพื่อจุดประสงค์ใด สอนอย่างใด ใช้สื่ออะไร และวัดผลประเมินผลโดยวิธีใดเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนสอน การที่ผู้สอนได้วางแผนการสอนอย่างถูกต้องตามหลักการย่อมช่วยให้เกิดความมั่นใจในการสอน ทำให้สอนได้ครอบคลุมเนื้อหา สอนอย่างมีแนวทางและมีเป้าหมาย และเป็นการสอนที่ให้คุณค่าแก่ผู้เรียน ดังนั้น ผู้สอนจึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับความหมาย ความสำคัญ ลักษณะ ขั้นตอนการจัดทำและหลักการวางแผนการสอน ตลอดจนลักษณะของแผนการสอนที่ดี เพื่อส่งผลให้การเรียนการสอนดำเนินไปสู่จุดหมายปลายทางที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความหมายของการวางแผนการสอน
การวางแผนการสอนเป็นการจัดวางโปรแกรมการสอนทั้งหมดในวิชาใดวิชาหนึ่งไว้ล่วงหน้า เพื่อช่วยให้ครูผู้สอนได้จัดดำเนินกระบวนการเรียนการสอนให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรที่วางไว้ ดังนั้นในแผนการสอนจะต้องประกอบไปด้วยรายละเอียดตามที่หลักสูตรกำหนดไว้ เช่น มีจุดประสงค์ความคิดรวบยอด/หลักการ เนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอน การวัดผล/ประเมินผล และจำนวนคาบเวลาที่ใช้สอน ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องจัดรวมไว้อย่างมีระบบระเบียบในแผนการสอน

การวางแผนการสอนเป็นการเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนสอน เพื่อให้การเรียนการสอนบรรลุจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ โดยใช้ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจปัญหาการสำรวจทรัพยากรการวิเคราะห์เนื้อหาการวิเคราะห์ผู้เรียนการกำหนดมโนมติ วัตถุประสงค์ กิจกรรมการเรียน สื่อการสอน และการประเมินผล แล้วเขียนแผนออกมาในรูปของแผนการสอน

การวางแผนการสอน คือกิจกรรมในการคิดและการทำของครูก่อนที่จะเริ่มดำเนินการสอนวิชาใดวิชาหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไปจะประกอบด้วยการกำหนดจุดมุ่งหมาย การคัดเลือกเนื้อหา การกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอน การเลือกตำรา เอกสาร อุปกรณ์ การประเมินผล และการพิมพ์ประมวลการสอนรายวิชา

จากความหมายดังกล่าวข้างต้นพิจารณาได้ว่า เป็นความหมายที่อธิบายถึงกิจกรรมและข้อมูลที่จะต้องใช้ในการวางแผนการสอน จึงสรุปความหมายได้ว่าการวางแผนการสอน คือ การเตรียมการสอนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ล่วงหน้า เพื่อเป็นแนวทางการสอนสำหรับครู อันจะช่วยให้การเรียนการสอนบรรลุจุดประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลที่ผู้สอนต้องเตรียมในการวางแผนการสอน ได้แก่
1. การกำหนดจุดประสงค์
2. การคัดเลือกเนื้อหา
3. การกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอน
4. การเลือกสื่อการเรียนการสอน
5. การวัดผลประเมินผล
ผู้สอนควรได้จัดเตรียมข้อมูลเหล่านี้อย่างสอดคล้องต่อเนื่องกัน เพื่อประโยชน์ในการนำไปปฏิบัติจริง

ความสำคัญของการวางแผนการสอน
การวางแผนการสอน เป็นงานสำคัญของครูผู้สอน การสอนจะประสบผลสำเร็จด้วยดีหรือไม่มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับการวางแผนการสอนเป็นสำคัญประการหนึ่ง ถ้าผู้สอนมีการวางแผนการสอนที่ดีก็เท่ากับบรรลุจุดหมายปลายทางไปแล้วครึ่งหนึ่ง การวางแผนการสอนจึงมีความสำคัญหลายประการ ดังนี้

1. ทำให้ผู้สอนสอนด้วยความมั่นใจเมื่อเกิดความมั่นใจในการสอนย่อมจะสอนด้วยความแคล่วคล่อง เป็นไปตามลำดับขั้นตอนอย่างราบรื่น ไม่ติดขัด เพราะได้เตรียมการทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว การสอนก็จะดำเนินไปสู่จุดมุ่งหมายปลายทางอย่างสมบูรณ์

2. ทำให้เป็นการสอนที่มีคุณค่าคุ้มกับเวลาที่ผ่านไป เพราะผู้สอนสอนอย่างมีแผน มีเป้าหมาย และมีทิศทางในการสอน มิใช่สอนอย่างเลื่อนลอย ผู้เรียนก็จะได้รับความรู้ ความคิด เกิดเจตคติ เกิดทักษะ และเกิดประสบการณ์ใหม่ตามที่ผู้สอนวางแผนไว้ ทำให้เป็นการเรียนการสอนที่มีคุณค่า

3. ทำให้เป็นการสอนที่ตรงตามหลักสูตร ทั้งนี้เพราะในการวางแผนการสอน ผู้สอนต้องศึกษาหลักสูตรทั้งด้านจุดประสงค์การสอนเนื้อหาสาระที่จะสอนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การใช้สื่อการสอน และการวัดผลประเมินผล แล้วจัดทำออกมาเป็นแผนการสอน เมื่อผู้สอนสอนตามแผนการสอน ก็ย่อมทำให้เป็นการสอนที่ตรงตามจุดหมายและทิศทางของหลักสูตร

4. ทำให้การสอนบรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพดีกว่าการสอนที่ไม่มีการวางแผนเนื่องจากในการวางแผนการสอนผู้สอนต้องวางแผนอย่างรอบคอบในทุกองค์ประกอบของการสอน รวมทั้งการจัดเวลา สถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ได้โดยสะดวกและง่ายดายขึ้น ดังนั้น เมื่อมีการวางแผนการสอนที่รอบคอบและปฏิบัติตามแผนการสอนที่วางไว้ ผลของการสอนย่อมสำเร็จได้ดีกว่าการไม่ได้วางแผนการสอน

5. ทำให้ผู้สอนมีเอกสารเตือนความจำ สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการสอนต่อไป ทำให้ไม่เกิดความซ้ำซ้อนและเป็นแนวทางในการทบทวนหรือการออกข้อทดสอบเพื่อวัดผลประเมินผผู้เรียนได้ นอกจากนี้ทำให้ผู้สอนมีเอกสารไว้ให้แนวทางแก่ผู้ที่เข้าสอนแทนในกรณีจำเป็น เมื่อผู้สอนไม่สามารถเข้าสอนเองได้ ผู้เรียนจะได้รับความรู้และประสบการณ์ที่ต่อเนื่องกัน

6. ทำให้ผู้เรียนเกิดเจตคติที่ดีต่อผู้สอนและต่อวิชาที่เรียน ทั้งนี้เพราะผู้สอน สอนด้วยความพร้อม เป็นความพร้อมทั้งทางด้านจิตใจ และความพร้อมทางด้านวัตถุ ความพร้อมทางด้านจิตใจคือความมั่นใจในการสอน เพราะผู้สอนได้เตรียมการสอนมาอย่างรอบคอบ ส่วนความพร้อมทางด้านวัตถุคือ การที่ผู้สอนได้เตรียมเอกสารหรือสื่อการสอนไว้อย่างพร้อมเพียง เมื่อผู้สอนเกิดความพร้อมในการสอน ย่อมสอนด้วยความกระจ่างแจ้ง ทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจอย่างชัดเจนในบทเรียน อันส่งผลให้ผู้เรียนเกิดเจตคติที่ดีต่อผู้สอนและต่อวิชาที่เรียน

ลักษณะการวางแผนการสอน
การวางแผนการสอนทำให้ผู้สอนได้ทราบว่าจะต้องสอนอะไร สอนอย่างไร สอนเมื่อใด ใช้เวลาเท่าใด ใช้อะไรประกอบการสอนบ้าง และวัดผลประเมินผลอย่างไร ดังนั้นในการวางแผนการสอนเพื่อให้ได้ทราบข้อมูลดังกล่าว จึงต้องจัดทำเป็น 2 ขั้นตอน ได้แก่
ขั้นตอนที่ 1. จัดทำเป็นกำหนดการสอน
ขั้นตอนที่ 2. จัดทำเป็นแผนการสอน
ในขั้นแรกผู้สอนต้องจัดทำกำหนดการสอนก่อน โดยวิเคราะห์เนื้อหาสาระจากคำอธิบายรายวิชา เมื่อจัดทำกำหนดการสอนแล้ว จึงนำกำหนดการสอนมาเป็นแนวทางการจัดทำแผนการสอน ดังนั้นผู้สอนจึงควรได้ทราบลักษณะของกำหนดการสอน และแผนการสอนซึ่งมีดังนี้

กำหนดการสอน
กำหนดการสอนเป็นเอกสารสำคัญที่ครูทุกคนจะต้องใช้เป็นหลักในการวางแผนการสอน จัดเป็นการวางแผนการสอนระยะยาวตลอดภาคเรียน หรือตลอดปีการศึกษาโดยไม่มีรายละเอียดมากนัก

ความหมายของกำหนดการสอน
กำหนดการสอน คือ แผนงานการสอนหรือโครงการสอน ที่จัดทำขึ้นจากหลักสูตรและคู่มือครู หรือแนวการสอนของกรมวิชาการ โดยกำหนดเนื้อหาสาระสำคัญ จำนวนคาบ เวลาและสัปดาห์ที่สอนไว้ตลอดภาคเรียน หรือตลอดปีการศึกษาทำให้ผู้สอนได้ทราบว่าตลอดภาคเรียนนั้น ในแต่ละสัปดาห์จะต้องสอนเนื้อหาใดบ้าง จัดกิจกรรมข้อใดและในเวลากี่คาบ

ความสำคัญของกำหนดการสอน
กำหนดการสอนเป็นการวางแผนระยะยาว ซึ่งจำเป็นต้องจัดทำให้เสร็จก่อนเริ่มเปิดภาคเรียนหรือปีการศึกษาใหม่ เพราะกำหนดการสอนมีความสำคัญ ดังต่อไปนี้

1. เป็นแนวทางในการทำแผนการสอนของครู กล่าวคือ การจัดทำแผนการสอนจำเป็นต้องดูกำหนดการสอนเป็นหลัก ทั้งนี้เพราะกำหนดการสอนจะบ่งให้ทราบว่า ในแต่ละวันของสัปดาห์จะต้องสอนเนื้อหาใด กิจกรรมข้อใด ผู้สอนก็จะทำแผนการสอนของเนื้อหาที่จะสอนในแต่ละวันแต่ละวันแต่ละวิชาได้ถูกต้องตรงกันกับกำหนดการสอน

2. ทำให้ครูได้เห็นแผนงานการสอนระยะยาว ได้ทราบเนื้อหาที่จะต้องสอนตลอดภาคเรียนนั้นเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมตัวและการวางแผนทำงานตลอดภาคเรียนหรือตลอดปีการศึกษา

3. เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายวิชาการและฝ่ายบริหารของโรงเรียนในการวางแผนงานบริหารด้าน วิชาการของโรงเรียน เช่น การวางแผนจัดทำตารางสอน จัดครูเข้าสอน จัดเตรียมเอกสาร จัดเตรียมวันสอบกลางภาค สอบปลายภาค จัดเตรียมสื่อการสอน เตรียมห้องสมุด เตรียมห้องเรียน เตรียมการใช้อาคารสถานที่ต่าง ๆ เป็นต้น

รูปแบบของกำหนดการสอน
โดยทั่วไป กำหนดการสอนจะเขียนในรูปแบบของตารางประกอบด้วยสัปดาห์ที่สอน เนื้อหาในแต่ละสัปดาห์ และจำนวนคาบเวลา นอกจากนี้อาจมีรูปแบบอื่นที่มีรายละเอียดมากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายของโรงเรียน อย่างไรก็ตาม รูปแบบดังตัวอย่างที่นำเสนอเป็นรูปแบบที่นิยมใช้

ตัวอย่างกำหนดการสอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น